สุขศึกษาและพลศึกษา
ปัญหาสิ่งแวดล้อม
ปัญหามลพิษทางน้ำ
เมื่อแม่น้ำลำคลองเกิดการเน่าเสีย ปัญหาที่เกิดขึ้นตามมามีมากมาย ดังนี้1. เป็นอันตรายต่อสุขภาพส่วนบุคคล น้ำเสียเป็นอันตรายต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ และก่อให้เกิดโรคระบาดได้หลายชนิด เช่น โรคอหิวาต์ ไทฟอยด์ บิด โดยมีน้ำสกปรกเป็นพาหะนำโรค
2. เป็นอันตรายต่อพืชและสัตว์ น้ำเสียเป็นปัญหาต่อการเกษตรเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อน้ำในแม่น้ำ ลำคลองเกิดการเน่าเสีย การเกษตรกรรมซึ่งต้องอาศัยน้ำเป็นหลักก็มีปัญหาในเรื่องการใช้น้ำ เพราะในน้ำเสียจะมีสารพิษสะสมอยู่ ทำให้เป็นอันตรายต่อพืชและสัตว์ของประชาชนที่มีอาชีพเกษตรกร
3. เป็นปัญหาต่อการประมง เมื่อน้ำในแม่น้ำลำคลองเน่าเสียหรือเสื่อมคุณภาพลง ก็จะมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ อาจทำให้สัตว์น้ำไม่สามารถแพร่พันธุ์ต่อไปได้ และที่สำคัญเมื่อมนุษย์นำสัตว์น้ำจากแหล่งน้ำที่เน่าเสียมาบริโภคก็อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
4. เป็นปัญหาต่อการผลิตน้ำเพื่อการบริโภค การผลิตน้ำเพื่อการบริโภค เช่น น้ำประปา ก็จะนำน้ำจากแม่น้ำลำคลองขึ้นมาผ่านกระบวนการต่างๆ มากมายเพื่อให้ได้น้ำสะอาดจนสามาถบริโภคได้ แต่เมื่อน้ำในแหล่งน้ำเกิดการเน่าเสียก็จะทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้น้ำสะอาดเพื่อการบริโภค
ปัญหามลพิษทางอากาศ
มลพิษทางอากาศโดยส่วนใหญ่เกิดจากฝีมือมนุษย์ เช่น เกิดจากการทำงานของยานพาหนะต่างๆ จากโรงงานอุตสาหกรรม จากกิจกรรมด้านการเกษตร เช่น การฉีดพ่นยาฆ่าแมลง มลพิษทางอากาศเป็นผลมาจากการที่อากาศมีส่วนประกอบเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งโดยมากจะมีส่วนประกอบ ได้แก่ แก๊สและฝุ่นละอองชนิดต่างๆ ที่เป็นพิษต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น สิ่งที่ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ มีดังนี้1. แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ เป็นแก๊สพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ของเชื้อเพลิง ซึ่งหากทำให้เกิดการเผาไหม้ได้อย่างสมบูรณ์ก็จะได้แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์แทนแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ ซึ่งเป็นแก๊สที่ไม่มีสีและไม่มีกลิ่น เป็นสารที่ทำให้อากาศเสีย พบมากในบรรยากาศที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ ถ้าเราหายใจเอาแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์เข้าสู่ร่างกายผ่านระบบหายใจ แก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์จะเข้าไปทำปฏิกิริยากับเฮโมโกลบินในเซลล์เม็ดเลือดแดง ทำให้เกิดสารคาร์บอกซีเฮโมโกลบินเป็นผลให้เลือดที่ถูกนำไปสู่เซลล์ของร่างกายขาดออกซิเจน ถ้าร่างกายได้รับแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ในปริมาณไม่มาก ก็จะมีผลให้เกิดอาการวิงเวียน หน้ามืด ตาลาย หายใจเร็ว ส่วนผู้ที่เป็นโรคหัวใจอาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ หากได้รับแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ในปริมาณมาก
2. แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นแก๊สที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงและสิ่งอื่นๆ ซึ่งไม่จัดว่าเป็นแก๊สพิษ แต่ถ้ามีแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เจือปนอยู่ในบรรยากาศมากก็จะทำให้อัตราส่วนของอากาศบริสุทธิ์สูญเสียไป และการเพิ่มขึ้นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มีผลโดยตรงต่ออุณหภูมิของโลก เพราะแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์มีสมบัติในการกั้นไม่ให้ความร้อนจากผิวโลกผ่านขึ้นไปได้ที่เรียกว่า ปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) นั่นคือเมื่อแสงสามารถผ่านแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ลงมาได้ โดยเฉพาะแสงที่มีช่วงคลื่นสั้น แต่เมื่อแสงแดดกระทบพื้นโลกแล้วสะท้อนกลับสู่ชั้นบรรยากาศจะไม่สามารถทะลุชั้นของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นไปได้ ทำให้อากาศร้อนมากขึ้นเรื่อยๆ
3. แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นแก๊สที่เกิดจากการเผาไหม้ของถ่านหินและน้ำมัน ซึ่งมีกำมะถันเป็นส่วนประกอบอยู่ในเชื้อเพลิง แก๊สชนิดนี้เกิดจากกระบวนการอุตสาหกรรม การถลุงโลหะจากแร่ และการเผาแร่ซัลไฟด์ แก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์เมื่อรวมตัวกับไอน้ำแล้วจะได้กรดซัลเฟอร์ริกเจือปนอยู่ในน้ำฝน ทำให้เกิดฝนกรด มีผลทำให้มีการกัดกร่อนวัตถุ อาคารบ้านเรือนต่างๆ ถ้าสูดดมเข้าไปจะมีผลต่อระบบทางเดินหายใจ ถ้าได้รับต่อเนื่องเป็นเวลานานจะทำให้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ฝุ่นละอองบางชนิดสามารถดูดซึมและละลายแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ไว้ในตัว เช่น โซเดียมคลอไรด์ ก็จะยิ่งทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมนุษย์มากขึ้น
4. ออกไซด์ของไนโตรเจน เป็นแก๊สที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงต่างๆ เช่น ถ่านหิน พืช ออกไซด์ของไนโตรเจนมีหลายชนิด แต่ที่สำคัญมี 2 ชนิด คือ ไนตริกออกไซด์และไนโตรเจนไดออกไซด์ ไนตริกออกไซด์เป็นแก๊สที่ไม่มีสีและกลิ่น โดยปกติไม่มีพิษ แต่ถ้าทำปฏิกิริยากับแก๊สออกซิเจนเมื่อใดก็จะเปลี่ยนเป็นไนโตรเจนออกไซด์ซึ่งเป็นแก๊สมีพิษในที่ที่มีอุณหภูมิสูงได้ทันที ถ้าร่างกายมนุษย์ได้รับเอาแก๊สไนโตรเจนออกไซด์ในปริมาณที่มีความเข้มข้นสูงจะทำอันตรายต่อปอด เช่น ทำให้ปอดอักเสบ เกิดเนื้องอกในปอด ทำให้หลอดลมตีบตัน
5. ตะกั่ว เป็นโลหะที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่ยุคโรมัน โดยนำมาทำท่อน้ำ ทำโลหะผสมโดยนำตะกั่วผสมกับดีบุก ใช้ในการเชื่อมโลหะ ในปัจจุบันละอองตะกั่วที่ปนอยู่ในบรรยากาศโดยส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้ของน้ำมันเบนซินที่ออกมาจากยานพาหนะ นอกจากนี้แล้วในแบตเตอรี่รถยนต์ สีทาบ้าน และการเชื่อมโลหะมีละอองตะกั่วที่เป็นสารมีพิษต่อชีวิตจำนวนมาก ถ้าเราหายใจเอาอากาศที่มีสารตะกั่วเจือปนอยู่เข้าไปจะเป็นอันตรายต่อระบบประสาท ระบบทางเดินอาหาร ตับ ไต หัวใจ และระบบสืบพันธุ์ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดโรคโลหิตจาง เม็ดเลือดแดงในร่างกายมีอายุสั้นลง ในหญิงมีครรภ์สารตะกั่วสามารถผ่านทางรกเข้าสู่ร่างกายทารกได้ ทำให้เด็กเกิดมามีอาการพิการทางสมองได้
ปัญหามลพิษทางเสียง
เสียงเป็นพลังงานที่เกิดจากการสั่นสะเทือนและเคลื่อนที่ไปในอากาศผ่านมากระทบหูทำให้เราได้ยิน ความดังของเสียงมีหน่วยวัดที่เรียกว่า เดซิเบล (dB) เสียงดังในระดับปกติที่เราได้ยินกันทุกวันอยู่ในระดับความดัง 0-27 เดซิเบล และไม่ควรดังเกิน 85 เดซิเบล เสียงที่มีความดังเกิน 85 เดซิเบลเป็นเสียงที่ถือว่ารบกวนและเป็นอันตรายต่อหูถึงขั้นพิการได้ที่มาของมลพิษทางเสียง มีดังนี้
1. จากการจราจร การจราจรทางบก เช่น รถไฟ รถยนต์ รถบรรทุก รถจักรยานยนต์ การจราจรทางน้ำ เช่น เรือยนต์ เรือหางยาว การจราจรทางอากาศ ได้แก่ เครื่องบิน โดยเฉพาะเครื่องบินเจ็ตและเครื่องบินไอพ่น เสียงจะดังมาก
2. จากสถานประกอบการต่างๆ ได้แก่ โรงงานต่างๆ เช่น โรงงานทอผ้า โรงงานเฟอร์นิเจอร์ โรงเลื่อย การก่อสร้างต่างๆ เช่น การเจาะคอนกรีต เครื่องตอกเสาเข็ม
3. จากแหล่งบันเทิงต่างๆ เช่น เสียงในผับ โรงแรม ไนต์คลับ
อันตรายของเสียงที่มีต่อสุขภาพ มีดังนี้
1. อันตรายต่อระบบการได้ยิน การที่หูคนเราได้รับฟังเสียงดังมากเกินไปและเป็นเวลานาน อาจทำให้กล้ามเนื้อภายในหูฉีกขาด ทำลายเซลล์ประสาทและปลายประสาท จนทำให้เกิดอาการต่างๆ ดังนี้
- หูอื้อชั่วคราวหรือหูตึง เกิดจากการที่ได้ยินเสียงที่ไม่ดังมากแต่นานพอที่จะทำลายปลายประสาทและเซลล์ประสาทของหูได้
- หูตึงและหูหนวกอย่างถาวร เกิดจากการได้ยินเสียงดังมากเกินไปจนถึงขั้นทำลายปลายประสาทและเซลล์ประสาทอย่างถาวร ทำให้สูญเสียการได้ยินโดยไม่สามารถกลับคืนสภาพเดิมได้อีก
- อันตรายแบบเฉียบพลัน เกิดอาการหูหนวกอย่างฉับพลันจากการได้ยินเสียงดังมากเกินไปจนทำให้ปลายประสาท เซลล์ประสาท และแก้วหูฉีกขาดทันที เช่น เสียงฟ้าผ่า เสียงระเบิด
2. อันตรายต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ จากการศึกษาวิจัยพบว่าเสียงที่ดังมากๆ และเสียงดังเป็นครั้งคราวจะทำลายประสิทธิภาพในการทำงานได้มากกว่าเสียงที่ดังติดต่อกันตลอดเวลา มีผลทำให้การทำงานล่าช้าและความถูกต้องลดลง และถ้ามีเสียงดังรบกวนการนอนก็จะทำให้เกิดอารมณ์หงุดหงิด เป็นสาเหตุให้เกิดความดันโลหิตสูง ก่อให้เกิดโรคกระเพาะ โรคหัวใจ และชีพจรเต้นผิดปกติ
ระบบไหลเวียนโลหิต
หัวใจ
หัวใจ เป็นอวัยวะที่ประกอบด้วยกล้ามเนื้อที่มีลักษณะเฉพาะไม่เหมือนกล้ามเนื้อของอวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย มีขนาดใหญ่กว่ากำปั้นของผู้เป็นเจ้าของ อยู่ในทรวงอกระหว่างปอดทั้งสองข้าง ชั้นนอกสุดจะมีเยื่อบุ เรียกว่า เพอริคาร์เดียม (Pericardium) ชั้นกลางเป็นชั้นกล้ามเนื้อหัวใจ เรียกว่า ไมโอคาร์เดียม (Myocardium) ทำหน้าที่บีบตัวเป็นจังหวะนอกอำนาจจิตใจ และชั้นในสุด เรียกว่า เอนโดคาร์เดียม (Endocardium) บุอยู่ภายใน
หัวใจแบ่งออกเป็นสองซีก คือ ซีกซ้ายและซีกขวา และแต่ละซีกจะถูกแบ่งออกเป็นห้องบนและห้องล่าง ทำให้หัวใจมีทั้งหมด 4 ห้อง สองห้องบนเรียกว่า เอเทรียม (Atrium) สองห้องล่างเรียกว่า เวนตริเคิล (Ventricle) ระหว่างหัวใจห้องบนและห้องล่างจะคั่นด้วยลิ้นหัวใจ ในบริเวณเส้นโลหิตที่จะส่งเลือดไปสู่ร่างกายก็มีลิ้นหัวใจกั้นอยู่เช่นกันระหว่างหัวใจซีกซ้ายและซีกขวาจะถูกกั้นด้วยกล้ามเนื้อคาร์ดิแอกเซพตัม (Cardiac Septum) ซีกขวาจะทำหน้าที่ในการรับเลือดดำจากส่วนต่างๆ ของร่างกาย แล้วส่งไปฟอกที่ปอด ซีกซ้ายจะรับเลือดแดงที่ผ่านการฟอกจากปอดแล้วส่งไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย
หลอดโลหิตมี 2 ชนิด คือ
1. อาร์เทอรี (Artery) เป็นหลอดโลหิตที่นำโลหิตออกจากหัวใจไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย
2. เวน (Vein) เป็นหลอดโลหิตที่นำโลหิตจากส่วนต่างๆ ของร่างกายกลับเข้าสู่หัวใจ
การไหลเวียนของโลหิต
การไหลเวียนโลหิตนั้นเป็นการนำเอาโลหิตที่มีออกซิเจนหรือโลหิตแดงจากหัวใจนำไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยผ่านเส้นโลหิตแดงจนถึงเส้นโลหิตแดงฝอย เมื่อโลหิตแดงนำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายแล้วก็จะกลายเป็นโลหิตดำ แล้วย้อนกลับผ่านเส้นโลหิตดำกลับเข้าสู่หัวใจและส่งไปฟอกที่ปอด กระบวนการนี้แบ่งออกเป็น 2 ช่วงดังนี้
1. พัลโมนารีเซอร์คูเลชัน (Pulmonary Circulation) เป็นช่วงการไหลเวียนของโลหิตที่ใช้แล้วกลับเข้าสู่หัวใจเพื่อส่งไปฟอกที่ปอด โดยเริ่มจากโลหิตที่ใช้แล้วไหลกลับเข้าสู่หัวใจห้องบนขวา แล้วไหลลงสู่หัวใจห้องล่างขวา จากนั้นจะถูกส่งไปยังปอดเพื่อเพิ่มปริมาณออกซิเจนในโลหิต โลหิตที่มีปริมาณออกซิเจนมากก็จะไหลกลับเข้าสู่หัวใจห้องบนซ้าย
2. ซิสเทมิกเซอร์คูเลชัน (Systemic Circulation) เป็นช่วงของการนำเอาโลหิตแดงไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเริ่มจากโลหิตแดงจากห้องบนซ้ายลงสู่ห้องล่างซ้ายซึ่งทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย โลหิตจะไหลไปสู่อวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย เมื่อโลหิตนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายแล้วจะมีสีคล้ำลง เรียกว่า โลหิตดำ ซึ่งจะไหลกลับเข้าสู่หัวใจในห้องบนขวา เพื่อนำไปฟอกที่ปอดต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น